อัลตร้าซาวด์ ระหว่างตั้งครรภ์

Ultrasound 4D

  อัลตร้าซาวด์ หรือ การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงขณะตั้งครรภ์  มีความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ เพราะไม่มีการใช้รังสี และไม่เคยมีการศึกษาอะไรที่แสดงให้เห็นว่า ทารกที่อยู่ในครรภ์ซึ่งได้รับการทำการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงนั้น เกิดความผิดปกติใดๆ แต่ก็มีบางการศึกษาที่สงสัยว่า การทำอัลตร้าซาวด์ อาจจะทำให้ทารกที่คลอดออกมาถนัดซ้ายมากขึ้น เรื่องนี้ยังไม่มีการยืนยันชัดเจน แต่ก็ไม่ได้แปลว่า การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงขณะตั้งครรภ์ จะไม่มีความเสี่ยงเสียทีเดียว แต่ทั้งนี้ความเสี่ยงที่ว่า เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นทางทฤษฎี (ในทางปฏิบัติไม่เคยพบ) ขอยืนยันว่าไม่เคยมีรายงานอันตรายที่เกิดจากการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงแต่อย่างใด แต่เนื่องจากการผ่านพลังงานคลื่นเสียงอาจจะมีผลในทางทฤษฎีบางอย่างได้ คำแนะนำจึงให้ทำเท่าที่จำเป็น คราวนี้มาดูความจำเป็นของแพทย์ที่ทำดีกว่า ว่าแพทย์ทำการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงเพื่ออะไรบ้าง

  • เพื่อดูอายุครรภ์
  • เพื่อตรวจดูความพิการแต่กำเนิดของทารก
  • เพื่อตรวจติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
  • เพื่อหาสาเหตุ กรณีเมื่อเกิดความผิดปกติต่างๆ
  • เหตุผลอื่นๆ เช่น ต้องการดูเพศทารก เป็นต้น

  การทำอัลตร้าซาวด์เพื่อดูอายุครรภ์ ไม่ใช่เพื่อใช้แทนอายุครรภ์จากการคำนวณ หากจำวันที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายได้ และประจำเดือนมาเป็นรอบๆที่สม่ำเสมอ (อาจคลาดเคลื่อนได้บ้างนิดหน่อย) อย่างนี้การคำนวณอายุครรภ์จะแม่นยำกว่า แต่ถ้าจะทำอัลตร้าซาวด์เพื่อดูอายุครรภ์ ก็สามารถทำเมื่อใดก็ได้แต่...ความแม่นยำจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ช่วงเวลาที่ทำ

  การทำอัลตร้าซาวด์เพื่อตรวจดูความพิการแต่กำเนิดของทารกในครรภ์ ส่วนใหญ่จะทำเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 18 สัปดาห์ขึ้นไปแต่มีการตรวจบางอย่างที่จะทำเร็วกว่านี้ เช่นการตรวจความหนาของผิวหนังระดับคอ (Nuchal thickness) จะทำเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 12 สัปดาห์ ซึ่งเป็นการตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ (Down Syndrome) อย่างหนึ่ง

  การทำอัลตร้าซาวด์เพื่อตรวจติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ จะทำเมื่อคิดว่าทารกตัวค่อนข้างเล็ก (ทราบอายุครรภ์แน่นอนแล้ว) หรือมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น มีภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นโรคหัวใจ ซึ่งอาจส่งผลทำให้ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติได้ กรณีเหล่านี้แพทย์จะทำการตรวจมากกว่าหนึ่งครั้ง เพื่อที่จะได้เปรียบเทียบการเจริญเติบโตหรือเอาค่าการเจริญเติบโตที่ได้ไป พล็อตกราฟแสดงการเจริญเติบโต

  การตรวจอัลตร้าซาวด์เพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติ หมายถึงมีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้น แพทย์จึงใช้อัลตร้าซาวด์เพื่อประกอบการวินิจฉัย ที่เจอบ่อยๆ เช่น มีเลือดออกผิดปกติขณะตั้งครรภ์ ถ้าอายุครรภ์น้อยๆ แพทย์ก็จะกังวลว่าเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูก ท้องลม หรือทารกเสียชีวิตแล้วกำลังจะแท้ง ถ้าอายุครรภ์มากมากหน่อยก็จะสงสัยเรื่องรกเกาะต่ำ หรือรกลอกตัวก่อนกำหนด กรณีเหล่านี้จะทำเมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดปกติ ถ้าไม่มีก็ไม่จำเป็นต้องทำ

  ส่วนสาเหตุอื่นๆ เช่น ทำอัลตร้าซาวด์เพื่อดูเพศทารก เพราะส่วนใหญ่คุณแม่ที่ตั้งครรภ์เข้าใจว่าการทำอัลตร้าซาวด์ทำเพื่อดูเพศให้เท่านั้น การทำเพื่อดูเพศทารกในครรภ์เป็นเรื่องที่มีทั้งข้อดีและข้อไม่ดี ถ้าจะทำส่วนใหญ่ก็จะต้องอายุครรภ์ 16-18 สัปดาห์ขึ้นไปครับ ทั้งนี้นอกจากขึ้นอยู่กับอายุครรภ์แล้ว ยังขึ้นอยู่กับความชำนาญของผู้ทำ ความละเอียดของเครื่อง และท่าของทารก บางรายแพทย์ที่ชำนาญบางท่านเห็นเพศทารกตั้งแต่อายุครรภ์น้อยกว่า 16 สัปดาห์ก็มี